วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

MANGA & THAI


ณ ปัจจุบัน วัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่นในสังคมไทยนั้นปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งสื่ออย่างละครและภาพยนตร์ เกม การ์ตูน เพลง แฟชั่น  การแต่งกาย อาหารการกิน สินค้านำเข้า  หนังสือ   เรียกได้ว่าแทบทุกด้านของชีวิต  และในอีกด้านหนึ่งของช่วงชีวิตวัยรุ่นคงไม่มีใครไม่รู้จัก การ์ตูนญี่ปุ่นหรือที่เรียนกันว่ามังงะ  มังงะมีจุดเริ่มต้นอยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเกิดจากการนำเอาภาพเขียน อุกิโยเอะ แบบญี่ปุ่นที่เน้นความคิดและอารมณ์มากกว่าลายเส้นและรูปร่าง กับการเขียนภาพแบบตะวันตกหรือคอมมิคมารวมกัน   ในประเทศไทยนั้น มังงะเกิดจากการดัดแปลงหนังสือการ์ตูนเรื่อง หุ่นอภินิหารแล้วนำมาตีพิมพ์ใหม่  โดยที่ยังคงลักษณะของตัวละครตามหนังสือที่ซื้อมา เมื่อวางตลาดแล้วแล้วปรากฏว่ามียอดขายดีมาก จึงทำให้มีนักเขียนคนอื่นๆพากันทำตาม   

โดยเนื้อหาของมังงะส่วนใหญ่ก็มักนำเสนอในเรื่องของความรักโรแมนติกเป็นส่วนใหญ่ แต่ในการ์ตูนญี่ปุ่นบางเรื่อง  ก็นำเสนอถึงความพยายามเพื่อไปสู่จุดหมาย  การฟันฝ่าอุปสรรคของตัวเอก และมีเนื้อหาที่แฝงไปด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน การใช้ชีวิตประจำวัน ความเชื่อ รวมทั้ง ลักษณะเฉพาะของชาวญี่ปุ่น เช่น  การนับถือระบบอาวุโส ระเบียบวินัย เป็นต้น  มังงะนั้นมีรูปแบบลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ และมีสัดส่วนใกล้เคียงกับรูปร่างร่างกายของมนุษย์สมส่วน จึงทำให้เข้าถึงได้ง่าย และเมื่ออ่านก็จะทำให้เกิดจินตนาการว่าเราเป็นตัวละครที่กำลังอ่านอยู่

แนวคิดหลายๆอย่างที่เราได้มาเมื่ออ่านมังงะ ทำให้เราเกิดการเลียนแบบ โดยเฉพาะในช่วงของวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยของการเรียนรู้และถูกโน้มน้าวได้ง่าย  ค่านิยมของวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการรักนวลสงวนตัว การวางตัวต่อเพศตรงข้ามที่ขัดต่อวัฒนธรรมไทยก็มีกันให้เห็นอยู่บ่อยๆ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาการข่มขืน การแก่งแย่งชิงดี ความก้าวร้าว การเสพติด การเพ้อฝัน   นอกจากการเลียนแบบแล้ว  ถ้าหากวัยรุ่นไทยอ่านการ์ตูนเหล่านี้แล้วไม่พิจารณาว่าอะไรจริง อะไรเป็นแค่เรื่องที่จินตนาการขึ้นมา แยกไม่ออกว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ก็จะส่งผลต่อสังคมอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เด็กผู้ชายที่อ่านการ์ตูนแนวต่อสู้ อาจจะซึมซับเอาความก้าวร้าวรุนแรงแล้วเอาไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ยกพวกตีกัน เป็นต้น ส่วนเด็กผู้หญิงที่อ่านการ์ตูนประเภทการ์ตูนรักโรแมนติก แล้วคิดเอาไปเองว่าตัวเองเป็นนางเอกของเรื่อง ก็จะอาจทำให้เกิดพฤติกรรมแตกแยก  พฤติกรรมเล่านี้อาจเป็นเรื่องที่ปกติทั่วไปของสังคมญี่ปุ่น แต่เมื่อวัยรุ่นไทยนำมาทำตามจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม จนก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย 

                การ์ตูนในสมัยนี้นอกจากจะมีอิทธิพลต่อ ค่านิยม ระบบความคิด และการแต่งกายแล้วนั้น  ยังมีผลที่เราสามารถเห็นได้ในรูปของรูปธรรม เช่นการนำเอาการวาดลายเส้นแบบมังงะมาใช้ในการวาด หรือตีพิมพ์หนังสือสำหรับเด็ก และวัยรุ่น เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ  แต่ในส่วนตัวของผู้เขียนนั้นรู้สึกขัดใจเป็นอย่างมากเมื่อไปเดินตามร้านหนังสือแล้วพบว่ามีการนำเอาวรรณกรรมไทย เช่น ไกรทอง พระอภัยมณี ฯลฯ  มาวาดและดัดแปลงให้มีลักษณะเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น  แล้วพบว่าตัวละครบางตัวในเรื่องมีรูปร่างหน้าตา ตาโตๆ ปากนิดจมูกหน่อย  หน้าตาจิ้มลิ้ม มีทรงผมสมัยนิยม และสีผมสีชมพู  ขอออกตัวเลยนะว่า  ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบและคลั่งไคล้มังงะเป็นอย่างมาก  แต่ผู้เขียนคิดว่าตัวละครแบบไทยๆนั้นมีเสน่ห์ในตัวเองและเหมาะสมกับวรรณกรรมไทยมากกว่า เพราะมีความละเอียดอ่อนและเอกลักษณ์ที่ชัดเจน  ไม่จำเป็นที่จะต้องนำลายเส้นเลียนแบบมังงะมาใช้ในการ์ตูนวรรณกรรมไทย  หรือสื่อสิ่งพิมพ์บางประเภทของเด็กเลย

                มังงะนั้นใช่ว่าจะมีแต่ผลเสียต่อวัฒนธรรมหรือสังคมไทยเสียทีเดียว  ข้อดีของมังงะก็มีหลากหลายเช่น ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน สร้างจินตนาการ  ปลูกฝังการใช้ชีวิต  การเคารพผู้อาวุโส  รวมทั้งสอดแทรกข้อคิดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ให้เรานำไปในชีวิตได้  เพียงแต่เราต้องมีวิจารณญาณในการเลือกอ่าน เลือกนำสิ่งที่ดีๆมาปรับใช้ และนำสิ่งไม่ดีมาเป็นแนวทางข้อคิดในการหลีกเลี่ยง  ไม่เพียงแค่เด็กหรือผู้อ่านเท่านั้นที่จะต้องมีวิจารณญาณในเรื่องของมังงะ  แต่ผู้ใหญ่ในสังคม หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางการพิมพ์ก็ต้องมีเช่นกัน  เพื่อความเหมาะสม และความพอเหมาะพอควรของการผสมผสานกันของวัฒนธรรม  ก่อให้เกิดความเรียบร้อยและความสงบสุขของสังคมไทย  เพราะมังงะก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ใช้ถากถางปูแนวทาง แกะสลักสร้างสรรค์ และป้องกันตนเอง  และในขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่ามังงะเป็นดาบที่สามารถทำให้เราเกิดบาดแผล และทำร้ายเราได้





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น